วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ภาษามือสื่อภาษาใจที่พบบ่อยในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้ภาษามือหลายแบบ โดยไม่ต้องใช้คำพูด ใช้แค่ภาษามือก็สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ ภาษามือ 7 ท่าที่จะนำเสนอต่อไปนี้ รู้ไว้ ได้นำไปใช้จริงแน่ค่ะ 


1. Maru (マル)


เป็นท่ายกแขนขึ้นเหนือศีรษะแล้วทำเป็นรูปวงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงความหมายในด้านบวก เช่น ถูกต้อง ตกลง หรือสอบผ่าน ในการตรวจคำตอบที่ถูกต้องของนักเรียนญี่ปุ่น ก็จะใช้เครื่องหมาย Maru วงกลมนี้ (ไม่ใช่ได้ศูนย์คะแนนนะคะ อย่าตกใจไป ^^) ซึ่งต่างกับของไทยที่ใช้เครื่องหมายถูก



2. Batsu (バツ)


ท่านี้จะยกแขนสองข้างขึ้นไขว้กันทำเป็นรูปกากบาท สื่อความหมายในด้านลบ เช่น ไม่ตกลง ใช้ไม่ได้ หรือความพ่ายแพ้ เวลาตรวจคำตอบที่ผิดก็จะใช้เครื่องหมาย Batsu ผิด × นี้เหมือนกับของไทย 



3. Sumimasen (すみません)


เป็นท่าที่ใช้ในการขอทาง หรือ ขออภัยในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลักษณะคล้ายท่าพนมมือของไทย แต่ใช้มือเดียวตั้งตรง นิ้วโป้งใกล้จมูก ก้มศีรษะลงมาเล็กน้อย แสดงการขออภัย 



4. Nattoku (納得)


ท่านี้ใช้แสดงการยอมรับในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด หรือใช้ประกอบการพูดเพื่อแสดงอารมณ์สื่อความเข้าใจ ที่เรามักจะเห็นท่าทางของตัวละครในภาพยนตร์ หรือในการ์ตูนที่จะกำมือข้างหนึ่ง แล้วใช้สันมือของกำปั้นนั้น กระแทกไปบนฝ่ามืออีกข้าง แล้วพูดว่า “ อ๋ออ! อย่างนี้นี่เอง” หรือ “นั่นสินะ!” พร้อมกับดวงตาอันเป็นประกาย *_* ! 



5. Watashi (私)


Watashi มีความหมายว่า ฉัน หรือข้าพเจ้า คนไทยเราเมื่อพูดถึงตนเอง ส่วนใหญ่มักจะเอานิ้วชี้ ชี้เข้าหาตัวเอง หรือไม่ก็เอามือผายเข้าหาตัวเองใช่ไหมคะ แต่ของญี่ปุ่นมีลักษณะต่างออกไปค่ะ คือ เมื่อเวลาพูดถึงตนเอง จะใช้นิ้วชี้ ชี้ไปที่ปลายจมูกของตัวเอง ระหว่างที่พูดไปด้วยค่ะ 



6. Kare & Kanojo (彼・彼女)


คุณจะพบท่านี้เมื่อมีคนถามถึงแฟนสาว หรือแฟนหนุ่มของคุณ หรือในบางทีก็จะไม่ถามเป็นคำพูดออกมา แต่ถามทางอ้อมโดยใช้ภาษามือ หากพูดถึงแฟนหนุ่ม (Kare) จะกำมือแล้วชูนิ้วโป้งขึ้น แต่หากถามถึงแฟนสาว (Kanojo) จะกำมือแล้วกระดกนิ้วก้อยขึ้น  



7. Peace sign (ピースサイン)



แน่นอนว่าท่ายอดนิยมในการโพสถ่ายรูปท่านี้ ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก นั่นก็คือ ท่าชูสองนิ้วนั่นเอง นอกจากใช้โพสถ่ายรูปแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ใช้สื่อถึงการประสบความสำเร็จอีกด้วย 


เรื่องโดย : AME.dama www.marumura.com
ที่มา :  http://www.fwdder.com/topic/399509

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น