วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

6 วิธีผลิตอาหารรองรับประชากรล้นโลก

อีก 37 ปีข้างหน้า ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนถึง 9 พันล้านคน ซึ่งปัญหาที่ทั่วโลกวิตกมากที่สุดตอนนี้ก็คือ จะทำอย่างไรถึงจะผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของทุกคนบนโลก ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงต่างตบเท้าออกมาเสนอวิธีแก้ปัญหานี้ 



ประมาณการณ์กันว่าในอีก 37 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะมีมากถึง 9 พันล้านคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 7 พันล้านคน และจะต้องมีศักยภาพในการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 60% จึงจะเพียงพอต่อประชากรทั้งหมดนี้

คำถามก็คือเราจะเอาอาหารจากไหนมาเลี้ยงคนทั้งโลกได้เพียงพอ คำตอบที่ถูกต้องไม่ใช่แค่ปลูกพืชให้ได้มากขึ้นเป็นสองเท่า เพราะเราไม่มีพื้นที่เพียงพอ ทั้งยังต้องยอมรับว่า การปลูกพืชนับวันจะยิ่งยากลำบาก เพราะสภาพภูมิอากาศโลกทวีความรุนแรงในอัตราเร่ง นักวิทยาศาสตร์หลายสถาบันจึงพากันเสนอวิธีรับมือภาวะขาดแคลนอาหารไว้ 6 วิธี ดังนี้

วิธีแรกคือการฉีดพ่นสารประกอบชื่อ " ควินาแบคทิน" ใส่ต้นพืช เนื่องจากสารเคมีชนิดนี้ จะเลียนแบบกรดแอบไซซิก ซึ่งเป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติ ที่มีส่วนช่วยให้พืชทนต่อสภาวะแห้งแล้ง เมื่อฉีดพ่นลงบนพืช มันชะช่วยชะลอการเหี่ยวเฉา ลดการสูญเสียน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการทนแล้งได้ ทั้งยังผลิตได้ง่ายในราคาถูก

วิธีที่ 2 คือ 3D Printing food ซึ่งมีใช้กันอยู่แล้วในปัจจุบัน หลักการก็คือ หมึกของปรินเตอร์ชนิดพิเศษนี้ ทำขึ้นมาจากวัตถุดิบอาหารชนิดต่างๆ ที่ถูกทำให้เป็นของเหลว เช่นน้ำแป้ง แล้วเติมสารอาหาร วิตามิน หรือแร่ธาตุเข้าไป เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ จากนั้น ปรินเตอร์ฉีดหมึกหล่ออาหารตามแบบ นอกจากจะใช้ปรินเตอร์สร้างสรรค์อาหารดีไซน์แปลกตาได้อย่างง่ายดายแล้ว ยังอุดมไปด้วยโภชนาการครบถ้วน 

วิธีที่ 3 คือการสังเคราะห์สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้นมา เช่นการสร้างยีสต์อบขนมปังชนิดที่มีวิตามิน โดยทำการเติมวิตามินซีเข้าไปในเซลล์ยีสต์เหล่านี้ และใช้เครื่องปรินต์พิเศษ สร้างยีสต์ 3 มิติขึ้นมา ดังนั้น ขนมปังยุคถัดไปจึงจะอุดมไปด้วยวิตามินซีนั่นเอง 

แต่อาหารบางอย่างไม่จำเป็นต้องถึงกับสังเคราะห์ขึ้นใหม่ เพราะสามารถใช้การตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่าพืชจีเอ็ม วิธีที่ 4 นี้ บางคนอาจเถียงว่าพืชเหล่านี้เป็นของไม่แท้ นักวิทยาศาสตร์จึงเถียงกลับว่า พืชดัดแปลงเหล่านี้ล้วนมีต้นแบบมาจากพืชตามธรรมชาติทั้งสิ้น และรัฐบาลอังกฤษได้รับรองแล้วว่า พืชจีเอ็มปลอดภัยกว่าพืชธรรมดาเสียอีก

ส่วนวิธีที่ 5 คือ การหันกลับไปส่งเสริมการบริโภคพืชตระกูลอื่นๆ ที่มนุษย์หลงลืมไปนานนับร้อยปีแล้ว แทนที่จะฝากชีวิตไว้กับข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดแค่สามอย่าง ตัวอย่างเช่น ถั่วหรั่ง พืชท้องถิ่นของแอฟริกา ก่อนที่ประชาชนจะหันไปนิยมบริโภคถั่วลิสงในยุคอาณานิคม โดยถั่วหรั่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ปลูกง่าย แม้ในภาวะภัยแล้งหรือดินขาดสารอาหารอย่างรุนแรงก็ตาม

ส่วนวิธีที่ 6 อาจฟังดูเหลือเชื่อถ้าจะบอกว่า วิธีสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนที่สุดก็คือ การทำให้มนุษย์ตัวเล็กลงเหลือไม่ถึง 1 เมตร แต่นักชีววิทยาหลายคนเชื่อมั่นในทฤษฎีที่ว่า สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร มนุษย์ก็จะวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด หากมีอาหารน้อย มนุษย์ก็ต้องบริโภคให้น้อยลง แต่มีคนจำนวนมากคัดค้านทฤษฎีนี้ เพราะพวกเขายึดติดกับวัฒนธรรมที่นิยมบริโภคน้ำตาล โปรตีน และไขมัน เกินความจำเป็นมาตลอด ประกอบกับคนยังเชื่ออีกว่า ตัวสูงดีกว่าตัวเตี้ย ดังนั้นวิธีนี้จึงอาจต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะได้ผล


ที่มา sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น